วันศุกร์, พฤศจิกายน ๐๒, ๒๕๕๐

วรรณกรรม

ความหมายของวรรณกรรม หมายถึง วรรณคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ (วรรณกรรมลายลักษณ์) และวรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก (วรรณกรรมมุขปาฐะ)ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ทั้ง ประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม ฯลฯ คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Literature Works" หรือ "General Literature" และการใช้คำว่า "วรรณกรรม" มีปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 โดยให้คำนิยามคำว่า "วรรณกรรมและศิลปกรรม" รวมกันไว้ดังนี้วรรณกรรมและศิลปกรรม หมายความรวมว่าการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ เช่น ปาฐกถา กถาอื่น ๆ เทศนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือนาฏกียกรรม หรือนาฏกีย-ดนตรีกรรม หรือแบบฟ้อนรำและการเล่นแสดงให้คนดูโดยวิธีใบ้ ซึ่งการแสดงนั้นได้กำหนดไว้เป็นหนังสือ หรืออย่างอื่น ๆ คำว่า "วรรณกรรม" ก็ได้นิยมใช้กันแพร่หลายมาตามลำดับ และสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรมรวมอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นทางราชการสืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ธวัช ปุณโณทก. 2527 : 1) กุหลาบ มัลลิกะมาส (2517 :7) กล่าวว่า คำว่า "วรรณกรรม" มาจากการสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำว่า "Literature" โดยวิธีสมาส หรือรวมคำ จากคำว่า วรรณ หรือ บรรณ ซึ่งหมายถึงใบไม้ หรือ หนังสือ รวมกับคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ ดังนั้นวรรณกรรม จึงหมายถึง การกระทำที่เกี่ยวกับหนังสือ โดยความหมายของวรรณกรรม หมายถึง สิ่งซึ่งเขียนขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด หรือเพื่อความมุ่งหมายใด ซึ่งอาจจะเป็นใบปลิวหนังสือพิมพ์ นวนิยาย คำอธิบาย ฉลากยาเป็นต้นก็ได้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง ภาพ ส่วน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และเจตนา นาควัชระ (2520 : 58) ได้ให้ความหมายของวรรณกรรมว่า หมายถึง หนังสือ หรือเอกสาร ที่มีศิลปกรรมในฐานะที่มีรูปแบบ มีสาระเนื้อหาที่ผู้เขียนพยายามสื่อความคิดด้วยวิธีการหนึ่งมายังผู้อ่าน สิทธา พินิจภูวดล และคณะ (2515 : 35) กล่าวว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ ร้อยกรอง และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ สารคดี นวนิยาย เรื้องสั้น เรียงความ บทละคร บทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ ตลอดจนคอลัมน์ต่าง ๆ ในหนังสือพิมพ์ พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ (2515 : 24) ได้กล่าวว่า วรรณกรรมหมายถึงการกระทำหนังสือหรือหนังสือที่แต่งขึ้นทั่วไปโดยมิได้จำกัดว่าเป็นหนังสือพวกใดพวกหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก สมพร มันตะสูตร (2525 : 10-11) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกชนิด ทุกชิ้นที่สามารถสื่อสารได้น่าจะเป็นวรรณกรรม ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้แต่งส่งสารไปยังผู้รับ ผู้รับสามารถสื่อความเข้าใจจากสารที่ผู้แต่งส่งมาได้ ก็ถือว่ามีการสื่อสารกันขึ้นแล้วงานเขียนนั้นนับว่าเป็นวรรณกรรม

ไม่มีความคิดเห็น: